“สนามบินเบตง” ปักธงเปิดทางการ 28 ก.พ. 65 ทย.ลดค่าแลนดิ้ง 80% คาดขาดทุน 2 ปีแรก 19 ล้าน

ข่าวด่วนวันนี้ (ข่าวทั่วไทย)

สนามบินเบตง” ปักธง 28 ก.พ. 65 เปิดบินทางการ ทย.ลดค่าแลนดิ้ง 80% คาด 2 ปีแรกขาดทุน 19 ล้าน “ศอ.บต.” จัดงบหนุน ด้านนกแอร์ถกภาคเอกชนเคาะค่าโดยสาร ชูฮับการบิน 3 จว.ภาคใต้เชื่อมมาเลเซีย, สิงคโปร์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจความพร้อมในการเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์อย่างเป็นทางการของท่าอากาศยานเบตงจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2565 โดยได้เดินทางไปด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ขณะที่ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมผู้บริหารกระทรวงคมนาคมเดินทางโดยเครื่องบินแบบใบพัด เพื่อทำสอบด้านการบินในภาพรวมไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งกายภาพรันเวย์และรัศมีการแลนดิ้ง ใช้น่านฟ้าในอาณาเขตประเทศไทย

ทั้งนี้ นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้แจ้งว่า จากการหารือกับภาครัฐ สายการบินนกแอร์ และภาคเอกชนในพื้นที่ จะเปิดทำการบินเชิงพาณิชย์ในวันที่ 28 ก.พ. 2565 ซึ่งตนได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) จังหวัดยะลา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หอการค้าจังหวัดยะลา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเบตง สายการบิน และผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ ประชุม หาข้อสรุปทุกเรื่องให้ชัดเจน เพื่อเรียนเชิญพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการบินอย่างเป็นทางการ

“เรื่องจำนวนผู้โดยสาร ผู้เกี่ยวข้องกำลังหารือกัน ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าสนามบินเบตงถือเป็นสนามบินสำคัญในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมั่นใจว่าสนามบินเบตงจะเป็นศูนย์กลาง (ฮับ)​ ในภูมิภาคพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่องมาเลเซียและสิงคโปร์ และสร้างความเจริญ และความมั่นคงแก่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แน่นอน ซึ่งการการันตีที่นั่งในการกำหนดอัตราค่าโดยสารจะมีกรอบเพดาน และยังมีวิธีการสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ เช่น extra charge เป็นต้น รวมถึงให้ดำเนินการเรื่องขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ควบคู่ไปด้วย เพราะจะทำให้สนามบินมีความสมบูรณ์และมีรายได้ ซึ่งทางเอกชนมีความพร้อม”

@ประเมิน 2 ปีแรกขาดทุน 19 ล้านบาท “ศอ.บต.” ช่วยจัดงบหนุน

ด้านกรมท่าอากาศยาน (ทย.) รายงานว่า การคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสนามบินเบตงในช่วง 2 ปีแรกจะอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านบาท/ปี โดยคาดว่ามีผู้โดยสาร 50,000 คน/ปี โดยกรณีที่มีการลดค่าขึ้น-ลงอากาศยาน (Landing & Parking Fee) ลง 80% ในปีแรก และในปีที่ 2 ลดลง 65% นั้น คาดการณ์ตัวเลขรายได้จากค่าแลนดิ้ง ปาร์กกิ้ง ค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร (PSC) ในปีแรกจะมีประมาณ 2,540,227 บาท ปีที่ 2 ประมาณ 2,819,96 บาท ส่งผลให้ปีแรกผลประกอบการขาดทุนประมาณ 9,459,773 บาท ปีที่ 2 ขาดทุนประมาณ 9,180,004 บาท รวม 2 ปีขาดทุนประมาณ 18,639,777 บาท โดย ทย.ขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายอุดหนุนส่วนต่างรายรับและรายจ่ายในการบริหารงานจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งทาง ศอ.บต.ยืนยันว่าได้พิจารณาในการปรับเกลี่ยงบเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสนามบินเบตงช่วง 2 ปีแรก 9.5 ล้านบาท/ปี

สนามบินเบตงเป็นสนามบินแห่งที่ 29 ของกรมท่าอากาศยาน มีพื้นที่ 920 ไร่ ได้รับการอนุมัติจากครม.เมื่อปี 2558 งบก่อสร้าง 1,700 ล้านบาท ก่อสร้างเสร็จปี 2563 มีศักยภาพรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่งได้จำนวน 3 ลำ โดยกรมท่าอากาศยานได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะของท่าอากาศยานเบตง (Public Aerodrome Operating Certificate : PAOC) ซึ่งมีความพร้อมในการให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว ทั้งด้านกายภาพ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก และบุคลากรจาก CAAT เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 ซึ่งสามารถใช้งานได้จนถึงวันที่ 27 มกราคม 2575

นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ สายการบินนกแอร์ การท่องเที่ยว ภาคธุรกิจ โรงแรม ร้านอาหาร มัคคุเทศก์ ได้ข้อยุติระดับหนึ่ง แนวโน้มการบินทั้งแบบประจำ และเช่าเหมาลำ และคาร์โก้ ซึ่งทางนกแอร์ต้องการการันตีผู้โดยสารที่ 64 ที่นั่งต่อเที่ยวบินนั้น เบื้องต้นภาคเอกชน และการท่องเที่ยว จะจองการบินประมาณ 6 เดือนทำการบิน 3 วัน/สัปดาห์(จันทร์ พุธ ศุกร์) โดยตั้งเป้าเปิดทำการบินในวันที่ 28 ก.พ. 2565 ซึ่งหลังจากนี้ทุกภาคส่วนจะประชุมในประเด็นเรื่องค่าโดยสารในส่วนของการันตีที่นั่ง และส่วนที่เหลือจะกำหนดอัตราเชิงพาณิชย์กันอย่างไร โดยทางจังหวัดจะทำประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง ส่วนการท่องเที่ยวจะทำอีเวนต์ ช่วยโปรโมต ผลักดันในช่วง 3-6 เดือนแรก

กัปตัน สุธี จุลชาต ผู้แทนสายการบินนกแอร์ กล่าวว่า ด้านการบินสนามบินเบตงผ่านการทดสอบมีความปลอดภัยครบถ้วน หลังจากนี้จะเป็นการบินเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน ซึ่งไม่อยากเห็นว่าเปิดบินแล้วต้องปิดเหมือนบางแห่ง ซึ่งการเริ่มต้นจะค่อนข้างยาก ดังนั้นจะต้องสร้างความมั่นใจ และไม่ได้มองแค่การขนผู้โดยสารจากภาคอีสานมาเที่ยวเบตง แต่ควรมองไปถึงการเป็นจุดเชื่อมต่อของนักท่องเที่ยวต่างชาติกับแหล่งท่องเที่ยวภาคใต้ที่ไม่สะดวกในการเดินทางด้วยรถยนต์ ซึ่งศักยภาพของเบตงเชื่อว่าอาจจะขายตั๋วกันไม่ทัน

“ขณะนี้นกแอร์ได้มีการประสานกับเอกชนในพื้นที่ รวมถึงนอกพื้นที่มีติดต่อเข้ามาแล้ว ดังนั้นไม่ค่อยเป็นห่วงเรื่องผู้โดยสาร และนกแอร์ยืนยันพร้อมบินในวันที่ 28 ก.พ.นี้แต่เป็นห่วงผู้ประกอบการว่าจะขายตั๋วได้ทันหรือไม่

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business