ทล.ทุ่มงบ 1,704 ล้านบาทปรับปรุงทางหลวงสาย 1 ช่วง อ.แม่ลาว-อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระยะทาง 95. 57 กม.คืบหน้ากว่า 50% แล้ว คาดแล้วเสร็จ เม.ย. 2566 ยกระดับโครงข่าย วิ่งฉลุยถึงด่านแม่สาย หนุนเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ทล. โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ได้เร่งดำเนินโครงการบูรณะโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างภาคทางหลวงหมายเลข 1 สาย อ.แม่ลาว-อ.แม่สาย (เป็นตอนๆ) รวมระยะทาง 95.57 กิโลเมตร โดยจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ในพื้นที่ อ.พาน จ.เชียงราย และจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ที่บริเวณด่านศุลกากรแม่สาย จ.เชียงราย แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ตอน คือ ตอนที่ 1 ระหว่าง กม.890+370-กม.933+481 ระยะทาง 40.08 กิโลเมตร และตอนที่ 2 ระหว่าง กม.933+481-กม.994+749 ระยะทาง 55.48 กิโลเมตร
ก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร ผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางข้างนอกกว้างข้างละ 2.50 เมตร ด้านในกว้าง 1.50 เมตร พร้อมเกาะกลาง อีกทั้งงานก่อสร้างขยายสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 5 แห่ง งบโครงการก่อสร้างประมาณ 1,704 ล้านบาท
ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้ากว่า 50% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายน ปี 2566 ทั้งนี้ มีบางช่วงที่ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้ใช้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทางแล้ว
โดยโครงการบูรณะโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างภาคทางหลวงหมายเลข 1 สาย อ.แม่ลาว-อ.แม่สาย ระยะทาง 95.57 กิโลเมตรเพื่อเสริมสร้างโครงข่ายทางหลวงพื้นที่ภาคเหนือให้สมบูรณ์ตลอดสายทาง ตามนโยบาย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
สำหรับทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) สายอนุสาวรีย์-หลักสี่-กลางสะพานแม่น้ำสาย (เขตแดนไทย-เมียนมา) นั้น มีจุดเริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร ผ่านภาคกลางและมุ่งเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย สิ้นสุดที่ด่านพรมแดนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รวมระยะทาง 994.7 กิโลเมตร
โดยเส้นทางช่วง อ.แม่ลาว-อ.แม่สาย จ.เชียงราย สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือได้หลายเส้นทางด้วยกัน ซึ่งกรมทางหลวงได้เปิดให้บริการเส้นทางนี้มานานประกอบกับมีรถบรรทุกสินค้าและรถยนต์ทั่วไปใช้บริการมากขึ้น เป็นเหตุให้โครงสร้างชั้นทางและสภาพผิวทางเสียหายแม้จะบำรุงรักษาสม่ำเสมอ กรมทางหลวงเล็งเห็นความจำเป็นจึงดำเนินโครงการบูรณะทางหลวงสายดังกล่าวเพื่อให้มีความสะดวกและปลอดภัยและรองรับการเพิ่มขึ้นของปริมาณจราจรในพื้นที่ จ.เชียงราย
หากโครงการก่อสร้างดังกล่าวแล้วเสร็จตลอดเส้นทาง จะช่วยยกระดับความปลอดภัยโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่ภาคเหนือเชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ส่งเสริมการท่องเที่ยวและช่วยกระจายความเจริญทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค สนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาทางหลวงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในภาคเหนือให้เป็นฐานเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์มูลค่าสูง และเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตามแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business